อะไรของต้นไม้ต้นนี้ ที่ดึงดูดลูกไปหาเขา?
โดย ครูมะออม เมื่อ
พืชเป็นภาพสะท้อนบองจังหวะบองโลกโลกเป็นภาพสะท้อนจังหวะในตัวเราและเมื่อเราสังเกตพืชเราจะเห็นความเป็นเรา
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะได้ให้เด็ก ป.๕ ได้ลองฟังเสียงหัวใจของตัวเองว่าอยากจะไปเป็นเพื่อนกับพืชต้นไหน ค่อย ๆ มอง ค่อย ๆ ทำความรู้จักไปทีละน้อย

หนึ่งในคำถามในวงสนทนา “อะไรของต้นไม้ต้นนี้ที่ดึงดูดลูกไปหาเขา”
‘เขาอยู่เพียงลำพังไม่มีเพื่อน เลยอยากเป็นเพื่อนกับเขา’
‘เขาเป็นต้นไม้ที่โดนตัดไปแล้ว แต่กลับงอกขึ้นมาใหม่ได้ มันน่าสนใจมาก’
‘เขาเอนเหมือนจะล้ม แต่ไม่ล้ม ผมอยากรู้จักเขา’
‘ดอกสีเหลืองเล็ก ๆ ของเขา ทำให้หนูสนใจ’
‘เขาต้นใหญ่ แต่ไม่เป็นพุ่ม ใบน้อย น่าสนใจมาก’
‘เห็นจักจั่นกำลังลอกคราบบนต้นเขา เลยเลือกต้นนี้’
‘จากต้นเล็ก ๆ กลายมาเป็นต้นสูงใหญ่ใบหนา เขาทำได้ยังไง’
‘เขาใบหนา แผ่ออกไปทั่ว’
‘เพราะเขามีหนาม’
‘กิ่งก้านเขาบิดแผ่ไปทั่วเลย ดอกเขาสวยมาก”
“ลำต้นเขาสูง อยากรู้ว่าเขาจะไปไหน”
“ใบเขาแปลกประหลาดดี”
เมื่อเราพินิจก็พบความอัศจรรย์จากคำตอบเหล่านั้น …
เด็กที่ก้าวผ่านความหวาดกลัวต่อการออกจากเซฟโซน เลือกต้นไม้ที่ถูกตัด ช่างกล้าหาญอะไรอย่างนี้
คนเหงาประจำห้องเลือกต้นหญ้าที่อยู่เพียงเดียวดาย
เจ้าเด็กที่ปกป้องตัวเองเกือบจะตลอดเวลาเลือกต้นไม้ที่มีหนาม
เด็กน้อยที่พร้อมจะล่องลอยไปกับทุกสิ่งเลือกมะฮอกกานีซึ่งมีเมล็ดที่มีปีกพร้อมโบยบิน
แง่งามของการศึกษาพืชของเราจึงไม่ใช่เพื่อให้เขาโตไปเป็นนักพฤกษศาสตร์ หรือท่องจำส่วนประกอบของพืชให้ขึ้นใจ หากแต่พาให้พวกเขาไปเจอจังหวะแห่งโลก เพื่อเข้าใจจังหวะแห่งตน
